นักดื่มคนไทยคงไม่มีใครไม่เคยดื่มเหล้าผสมโซดา ซึ่งวิธีการดื่มเหล้าอีกสไตล์หนึ่งเรียกว่า Highball
ความนิยมชมชอบดื่มเหล้ากับโซดาของคนไทยมีมานานมากแล้ว จุดประสงค์ของการเติมโซดานั้นก็เพื่อลดความแข็งกร้าวของเหล้าสปิริต(เหล้ากลั่นที่มีดีกรีสูงกว่า 20 %  abv) ที่มีรสสัมผัสร้อนแรง เราจึงต้องหาอะไรที่มันอ่อนกว่าเช่น น้ำ , น้ำผลไม้, โซดา , หรือโค้กผสมลงไป ไม่ใช่แค่คนไทยที่ดื่มสไตล์นี้ ฝรั่งก็ทำกันครับ
วันนี้ผมจะพาคุณย้อนกลับไปในอดีตกันว่า เครื่องดื่มไฮบอลส่วนผสมง่ายๆที่คุ้นเคยนั้นมีเรื่องราวอย่างไร ตามมาครับ

#Highball ไฮบอลคือเครื่องดื่มที่ผสมเหล้ากับน้ำโซดา

วิธีการดื่มเครื่องดื่มผสมสไตล์ “ไฮบอล” เริ่มจากแผ่นดินประเทศอังกฤษ
แต่เดิมเป็นการผสมกันระหว่างบรั่นดีกับโซดา(Brandy & Soda)ดื่มกันในสังคมชั้นสูงที่ประเทศอังกฤษเพราะเหล้าบรั่นดีจากฝรั่งเศส(Cognac)มีฐานแฟนคลับเป็นชาวอังกฤษมากว่าประเทศใดในสมัยนั้น ซึ่งคนที่คิดผสมคนแรกคือ Joseph Priestly นักเคมีลูกครึ่งฝรั่งเศส-อังกฤษ (Anglo-French ) และเป็นผู้ที่คิดค้นน้ำโซดาเป็นคนแรกของโลก โดยมีส่วนผสมโซเดียมไบคาร์บอร์เนต เติมลงไปในน้ำมะนาวทำให้เกิดฟอง  จากนั้นเครื่องดื่มไฮบอลก็ได้เกิดขึ้นที่เมืองลีดส์ (Leeds)  ตั้งแต่ปีค.ศ 1767 โน้นเลยครับ และปรากฏว่าสูตรของเขาเป็นที่ถูกใจนักดื่มพอสมควร
ต่อมา Joseph Priestly ก็ได้นำเสนอน้ำโซดาสูตรของเขาให้กับกัปตันเจมส์ คุก(James Cook ผู้นำการเดินเรือชาวอังกฤษ นักทำแผนที่ นักสำรวจทวีปออสเตรเลียและนำไปสู่การยึดครองออสเตรเลียมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ)  เพราะเขาเชื่อว่าสามารถป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (หรือที่เรียกว่า Scurvy โรคขาดวิตามินซี) โรคนี้ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นล้านๆคนในสมัยนั้นโดยเฉพาะลูกเรือ ซึ่งถ้าหากรักษาได้ การเดินเรือกลางมหาสมุทรก็จะราบรื่นยิ่งขึ้นในด้านการออกไปค้าขาย, หาดินแดนใหม่ๆ และนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศอังกฤษ นั่นหมายถึงการได้เป็นผู้พิชิตโลกอีกด้วย

Highball มาถึงจุดเปลี่ยนจากบรั่นดีฝรั่งเศสมาเป็น สก็อตวิสกี้กับโซดา

เนื่องด้วยเหตุไม่คาดฝันของการระบาดอย่างหนักของเพลี้ยต้นองุ่นในตอนปลายศตวรรษที่19  ปี ค.ศ. 1870 #Phylloxera จนทำให้องุ่นที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบรั่นดีตายเกลี้ยง และส่งผลให้บรั่นดีขาดแคลนอยู่นาน ชาวอังกฤษเลยหันมาหาสก็อตวิสกี้แทนบรั่นดี เพราะสก็อตวิสกี้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากเพลี้ยระบาดเพราะสก็อตวิสกี้ทำมาจากธัญพืชเป็นวัตถุดิบหลัก จากนั้นสก็อตวิสกี้ที่ผสมกับโซดาก็ได้รับความนิยมจากคนอังกฤษเช่นกัน  ซึ่งคนอังกฤษดื่มสก็อตกับโซดากันมานานมากๆ แต่ก็ยังไม่มีชื่อเรียกของการดื่มสไตล์นี้ มีแต่บอกถึงสูตรวิธีการทำเท่านั้น จนกระทั่ง #Highball เดินทางข้ามยุโรปมายังอเมริกา จึงมามีชื่อเรียกจริงจังในทศวรรษ1890s นี่เองที่ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
แต่ชื่อนี้ใครเป็นคนตั้งขึ้นมานั้นก็ยังไม่ทราบแน่นอน....แต่มีการกล่าวอ้างดังนี้

Tommy Dewar จาก Dewar Scotch whisky
 ในช่วงทศวรรษที่ 1880s และ 1890s วิสกี้เบลนเดอร์ (Whisky Blender) จากสก็อตแลนด์ หลายๆคน รวมไปถึง Tommy Dewar ได้สร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายสก็อตวิสกี้ในต่างประเทศและจำหน่ายวิสกี้ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย โดยทอมมี่เป็นคนที่มีชื่อเสียงมากในสังคมไฮโซของนิวยอร์ก ซึ่งทำให้ต่อมาในปี ค.ศ. 1920 เครื่องดื่มวิสกี้กับโซดาเป็นที่นิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา Tommy  จึงจดเครื่องหมายการค้า (Trademarked) คำว่า “Highball” เพื่อครอบครองชื่อนี้แต่เพียงผู้เดียว

Patrick Gavin Duffy
บาร์เทนเดอร์ที่ทำงานใน Ashland House เมือง Manhattan นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เขียนเรื่องโต้แย้ง Tommy Dewar ไว้ในหนังสือค็อกเทลที่ชื่อ “The official Mixer' Manual"
ว่าชื่อ Highball นั้น....มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1895 ซึ่ง Patrick นี่แหละเป็นคนตั้งชื่อเองกับมือ เขาเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ได้พบกับนักแสดงชาวอังกฤษ คนหนึ่งชื่อ E. J. Ratcliffe เข้ามาสั่งวิสกี้ผสมโซดาเป็นครั้งแรก และเขาได้เสริฟเครื่องดื่มนั้นในแก้วทรงกระบอกสูงที่เรียกว่า Highball ซึ่งทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันแต่ผลที่ได้คือทำให้ Highball เป็นที่สนใจในวงกว้างในสังคมอเมริกา
ในกลางทศวรรษที่ 1900s คนอเมริกันยังไม่นิยมเรียกชื่อ #Highball กันเท่าไหร่นัก เวลาสั่งเครื่องดื่มจากบาร์เทนเดอร์มักจะสั่งเป็นชื่อยี่ห้อเหล้ามากกว่า(Call Drink การเรียกชื่อยี่ห้อเหล้า) เช่น Dewar & Soda เป็นต้น.....

บาร์เทนเดอร์เสิร์ฟค็อกเทล Drambuie Collins

Highball เดินทางมาถึงเอเชีย โดยญี่ปุ่นทำให้ Highball เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นไปอีก

ในช่วงทศวรรษที่ 1920s  ปี ค.ศ. 1918  #Highball ได้ข้ามทวีปมาให้คนญี่ปุ่นลิ้มลองซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Wistan” (Whisky ผสมกับโซดา คำว่า #Tansan  ภาษาญี่ปุ่นหมายถึงน้ำที่มีCo2 :โซดา) ไฮบอลเปิดตัวแห่งแรกที่เมืองโกเบ ในบาร์ที่ชื่อว่า Samboa มีส่วนผสมดังนี้ วิสกี้ผสมกับโซดาและตกแต่งด้วยผิวมะนาว(lemon twist) แต่ความนิยมก็ไม่ได้มีมากเท่าไหร่นัก

จนในปี ค.ศ. 1937 กับการเปิดตัววิสกี้ญี่ปุ่นยี่ห้อ “Kotobukiya 12 years” และมาพร้อมกับการดื่มสไตล์ไฮบอล โปรโมทจนทำให้การดื่มวิสกี้กับโซดานิยมมากในญี่ปุ่น จนชาวญี่ปุ่นตั้งนิคเนมน่ารักๆให้กับเหล้าวิสกี้ “Kotobukiya 12 years” ว่า “Kakubin” ที่แปลว่า “ขวดทรงสี่เหลี่ยม” และยังตั้งนิคเนมการดื่มเหล้าวิสกี้ Kakubin กับโซดาอีกว่า “Kaku Hai” หมายถึง การดื่ม Kakubin Highball นั้นเองในช่วงทศวรรษ 1950s ปี1955กลุ่ม บริษัทเครื่องดื่มซันโทรี่ (Suntory) ได้สร้างบาร์หลายแห่งชื่อว่า Tory's ทั้งในโตเกียวและโอซาก้าซึ่งให้บริการเครื่องดื่ม Highball เป็นหลักเพื่อรองรับตลาดวิสกี้ของตัวเองต่อมาการดื่มวิสกี้กับโซดาหลังเลิกงานของชาวญี่ปุ่นถูกตั้งนิคเนมอีกว่า  “Salary man” เพราะหนุ่มๆสาวๆ ยุคนั้นดื่มกันหลังเลิกงานทุกวัน Tory's Bar ของบริษัท Suntory เป็นหนึ่งในวิสกี้บาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นสร้างบาร์ขึ้นมาเพื่อรองรับสินค้าวิสกี้ “ Kakubin” ของบริษัทตัวเองด้วยและให้คนญี่ปุ่นได้ลิ้มรสวิสกี้ได้ง่ายขึ้นครบวงจรการตลาด
ในช่วงเวลานั้นคู่แข่งอื่น ๆ ที่ผลิตวิสกี้เหมือนกัน ก็ได้คิดสูตรมาแข่งกับ “ไฮบอล” บ้างนั่นคือสูตร “Mizuwari”   (Mizu หมายถึงน้ำ Wari หมายถึง ผสม )   ส่วนผสมคือ #เหล้าวิสกี้กับน้ำ
การแข่งขันกันดุเดือดระหว่าง Wistan Vs Mizuwari ผลสุดท้าย Mizuwari ก็ชนะใจชาวญี่ปุ่น Mizuwari กลับมานิยมแซงหน้า Wistan ไปในที่สุด
ชาวญี่ปุ่นยังเรียกการดื่มวิสกี้กับโซดาว่า “Sodawari” อีกด้วย
การขายวิสกี้ในญี่ปุ่นเริ่มลดลงในช่วงทศวรรษ 1980s เนื่องจากเหล้าโชจู (เหล้ากลั่นจากธัญพืชเช่น บาร์เล่ย์และข้าว) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้ยอดขายวิสกี้ทุกยี่ห้อลดลงเกือบ 30 ปี
การต่อสู้ทางการตลาดยังคงดำเนินต่อไป ปี 2008 Japanese whisky ชูคอขึ้นมาอีกครั้ง Kakubin เจแปนนิสวิสกี้โปรโมทการดื่ม Highball มากขึ้นๆ (ใช้แทนชื่อเดิม Wistan) และยิ่งได้ผล เมื่อได้นักแสดงสาวสวย โคยูกิ คาโต้ จากหนัง Hollywood เรื่อง “The last Samurai”ปี 2003 ที่เล่นคู่กับพระเอกหล่อตลอดกาล Tom Cruise รับเล่นโฆษณาให้  #Highball ในโฆษณาบอกถึงสัดส่วนการผสมไว้ด้วย
Soda 3 ส่วน
Whisky Kakubin 1 ส่วน
ผสมกันในแก้วที่มีน้ำแข็ง
ไฮบอล เริ่มติดหู ติดปาก ติดตา ชาวญี่ปุ่น จนกลายเป็นวิถีการดื่มวิสกี้ของชาวญี่ปุ่นสมัยใหม่ไปเลย อีกเหตุผลคือมันเหมาะกับอากาศชื้นในประเทศญี่ปุ่นด้วยดื่มแล้วทำให้ผู้ดื่มสดชื่นขึ้น

#Highball ขายดีมากในญี่ปุ่น

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า Highball จึงมีทั้งในแบบกระป๋องพร้อมดื่มหรือแบบเป็นเครื่องผสม Highball อัตโนมัติแบบหยอดเหรียญอีกด้วย
 แต่ถ้าคุณสั่งไฮบอลจากบาร์เทนเดอร์ชาวญี่ปุ่น พวกเขาจะทำอย่างประณีตพิถีพิถันให้กับคุณ
ด้วยการใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่ที่ทำเอง (Craft ice) ลงไปในแก้ว Highball คน (Stiring)จนแก้วเย็นจัด เทน้ำที่ละลายออกจากแก้ว เติมวิสกี้ 30-50 ml ลงไป คน (Stiring) กับน้ำแข็งในแก้วอีกครั้ง เติมน้ำแข็งอีกครั้งให้เต็มแก้ว รินโซดาเย็นจัดเต็มแก้วโดยให้ผ่านขอบแก้วลงไปให้โดนน้ำแข็งน้อยที่สุด คนเบาๆ (Stir gently)แล้ว Garnish ด้วย Citrus เช่น ส้ม, เกรฟฟรุต ,มะนาว, เลม่อน ....
การทำเครื่องดื่มสไตล์ไฮบอลนี้วัดกันตรงที่ว่า บาร์เทนเดอร์คนใดทำเครื่องดื่มให้ได้เย็นจัดทีสุดแต่ในขณะเดียวกันก็เจือจางลงน้อยที่สุดตลอดระยะเวลาการดื่มของแขกจนหมดแก้ว
หากคุณเข้าบาร์ในไทยลองสั่ง HIGHBALL ดูสักครั้งครับแล้วสังเกตุดูความพิถีพิถันใส่ใจในการทำHIGHBALL ของบาร์เทนเดอร์
Highball แม้ว่าจะเป็นเครื่องดื่มผสมง่ายๆที่คนไทยคุ้นชินกันมานาน แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะผ่านกาลเวลามานานนับร้อยๆปี
ถ้าคุณอ่านจนจบ ครั้งต่อไปเมื่อคุณดื่ม Highball ผมเชื่อว่าอรรถรสของเครื่องดื่มในมือคุณจะเพิ่มขึ้นตามสตอรี่อันยาวนานนี้แน่นอน
ขอบคุณครับ
Trin Thipmongkol (A.J.Aod)
#เรียนบาร์เทนเดอร #หลักสูตรบาร์เทนเดอร์#สอนบาร์เทนเดอร์ #เรียน Bartender #โรงเรียนบาร์เทนเดอร์ #เรียนค็อกเทล #เรียนผสมเครื่องดื่ม #การอบรมบาร์เทนเดอร์ #เรียนผสมเหล้า #เรียนบาร์เทนดี้ #สอนผสมเครื่องดื่ม #สอนค็อกเทล